สหรัฐฯ-จีน สับขาหลอก ส่งสัญญาณสวนทางเจรจาภาษี ฉุดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก
สหรัฐฯ-จีน ส่งสัญญาณสวนทางเรื่องเจรจาภาษี จุดไฟความกังวลทั่วโลก ท่ามกลางแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันกับนิตยสาร TIME เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า กำลังมีการเจรจาภาษีกับจีน พร้อมระบุด้วยว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับเขาโดยตรง ซึ่งทรัมป์ยังย้ำเรื่องนี้อีกครั้งกับสื่อมวลชนระหว่างเดินทางออกจากทำเนียบขาวไปยังกรุงโรม เพื่อร่วมพิธีศพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
แต่เพียงไม่นาน จีนก็ออกแถลงการณ์ตอบโต้ผ่านสถานทูตจีนประจำสหรัฐฯ โดยระบุอย่างชัดเจนว่า “จีนและสหรัฐฯ ไม่ได้มีการปรึกษาหารือหรือเจรจาใดๆ เกี่ยวกับภาษี” พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ “หยุดสร้างความสับสน” นำมาซึ่งความไม่แน่นอนครั้งใหม่ในสมรภูมิการค้าโลกที่กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก
ความย้อนแย้งของข้อมูลดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่ดูเหมือนจะไร้ทิศทาง ทั้งกับจีนและกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเร่งหาทางเจรจาลดภาระภาษีนำเข้า หลังทรัมป์กลับคืนสู่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาและเริ่มใช้มาตรการภาษีที่เข้มข้นกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ กำลังเปิดโต๊ะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่วอชิงตันในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่มธนาคารโลก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณว่ามีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในบางการเจรจา แม้คู่เจรจาหลายประเทศยังแสดงความระมัดระวังและไม่แน่ใจต่อทิศทางของสหรัฐฯ
ปาสกาล โดโนฮิว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไอร์แลนด์ เปิดเผยกับรอยเตอร์หลังเข้าร่วมการประชุมว่า “ผมเดินออกมาจากการประชุมด้วยความรู้สึกชัดเจนถึงทุกสิ่งที่อยู่บนความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือมาตรฐานการครองชีพทั่วโลก” พร้อมเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องเร่งลดความไม่แน่นอนเหล่านี้โดยเร็ว
ท่ามกลางความคลุมเครือเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ก็ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง เช่น การที่จีนได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ โดยไม่ต้องเสียภาษีตอบโต้ 125% ที่จีนได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อตอบโต้ภาษี 145% ที่สหรัฐฯ กำหนดกับสินค้าจีน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีรายการสินค้ากว่า 131 ประเภทอยู่ระหว่างการพิจารณายกเว้นภาษีเพิ่มเติม เช่น วัคซีน สารเคมี และเครื่องยนต์ไอพ่น แม้รอยเตอร์จะยังไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อนี้ได้ และจีนก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ
ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายสหรัฐฯ ก็เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลาย โดย สก็อตต์ เบสเซนต์ ระบุว่าทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่อาจดำเนินต่อไปได้ โดยทรัมป์เองกล่าวที่ทำเนียบขาวว่าเขาใกล้จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็น “ต้นแบบ” ของข้อตกลงทวิภาคีอื่นๆ แม้ว่าการเจรจาจะยังไม่ง่ายนัก คาดว่าทรัมป์และนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ อาจประกาศข้อตกลงดังกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอด G7 ที่แคนาดาในเดือนมิถุนายนนี้
ทรัมป์ยังเปิดเผยกับ TIME ว่าเขาได้ทำ “ข้อตกลง 200 ฉบับ” ที่จะเสร็จสิ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า แม้จะไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม และยืนยันว่าหากอัตราภาษียังอยู่ที่ระดับ 20-50% ภายในปีหน้า เขาจะถือว่าเป็น “ชัยชนะอย่างสมบูรณ์”
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายได้ออกมาเตือนว่านโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ สูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในตลาดการเงิน ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ กำลังมุ่งหน้าสู่การปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ แม้จะยังลดลงราว 10% นับตั้งแต่ทรัมป์กลับเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีในตลาดยุโรปและเอเชียปรับขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน และค่าเงินดอลลาร์ก็เริ่มฟื้นตัวหลังอ่อนค่าลงติดต่อกันมากกว่าหนึ่งเดือน
แม้ตลาดจะขานรับสัญญาณบวกจากการที่สหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะยอมถอยคนละก้าวในศึกการค้า แต่ความไม่แน่นอนก็ยังคงปกคลุมอยู่ เนื่องจากในขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังเดินหน้ากำหนดอัตราภาษีแบบครอบคลุม 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงการขึ้นภาษีเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ อีกทั้งยังเสนอแนวคิดเรียกเก็บภาษีเฉพาะอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เช่น ยาและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าราคายาในสหรัฐฯ อาจพุ่งขึ้นสูงถึง 12.9% จากนโยบายดังกล่าว
มาตรการภาษีเหล่านี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างการประชุม IMF สัปดาห์นี้ โดยรัฐมนตรีหลายประเทศต่างเร่งขอเจรจาส่วนตัวกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เพื่อหาทางลดแรงเสียดทาน เช่น เกาหลีใต้ที่อธิบายว่าการหารือครั้งแรกถือเป็น “การเริ่มต้นที่ดี” และจะมีการเจรจาเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ก็ระบุว่าพอใจกับผลการประชุมรอบแรก
แม้ว่าจะมีความคืบหน้าเล็กน้อยในบางกรณี แต่โดยภาพรวมแล้วยังแทบไม่เห็นสัญญาณของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ IMF คริสตาลินา จอร์จีวา ได้ออกโรงเตือนว่า ความตึงเครียดทางการค้าอาจนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงหากไม่มีการหาข้อยุติที่ชัดเจนในเร็ววันนี้